เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำที่นักเทคนิคที่มีประสบการณ์มักจะพูดแนะนำอยู่บ่อย ๆ  คือ

 

“ถึงแม้จะอ่านกราฟหรือวิเคราะห์ทิศทางราคาได้เก่งขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่รู้จักบริหารเงินลงทุน (Money Management) ในการซื้อขาย ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุน”

 

ยิ่งเป็นใครที่ซื้อขายอนุพันธ์พวกฟิวเจอร์ส (Futures) อย่างเช่น SET50 Index Futures , Gold Futures หรือ Single Stock Futures ใน TFEX คำแนะนำที่บอกให้เราต้องรู้จักบริหารเงินลงทุนก็ยิ่งมีความสำคัญยิ่งขึ้น เนื่องจากลักษณะของอนุพันธ์นั้นใช้กลไกการวางเงินประกันแทนการจ่ายเงินเต็มจำนวน ทำให้มีอัตราเพิ่มของเงิน (Leverage) ซึ่งทำให้เกิดผลกำไรและขาดทุนจากการซื้อขายได้เร็วกว่าการซื้อขายหุ้นหลายเท่า

 

ประเด็นที่คนส่วนใหญ่สนใจไม่เกี่ยวข้องกับ Money Management

 

จากประสบการณ์ที่ผมได้ให้คำแนะนำกับนักลงทุนจำนวนมาก พบว่านักลงทุนที่สนใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคส่วนใหญ่เวลาตัดสินใจซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ มักจะให้ความสำคัญกับการอ่านกราฟราคา กราฟ Volume หรือวิเคราะห์ Indicators เพื่อให้ได้คำตอบเพียงว่า

 

     1 จะลงมือซื้อหุ้นหรืออนุพันธ์อ้างอิงกับสินค้าตัวไหนดี มีตัวไหนบ้างที่น่าสนใจ

     2 หุ้นหรืออนุพันธ์ตัวที่กำลังสนใจอยู่ราคาน่าจะปรับตัวขึ้นหรือลงในอนาคต

     3 ปัจจุบันเป็นจังหวะที่น่าสนใจซื้อขายได้หรือยัง

 

ซึ่งจะเห็นได้ว่าคำตอบเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารเงินลงทุนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในการลงทุนเลย

 

6 ประเด็นสำคัญ เกี่ยวกับ Money Management

 

ความสำคัญของ Money Management จะเป็นขั้นตอนถัดไปหลังจากที่เราได้คำตอบเบื้องต้นว่าหุ้นหรืออนุพันธ์ตัวไหนบ้างที่น่าสนใจลงมือซื้อขาย และได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์กราฟแล้วว่าปัจจุบันเป็นจังหวะที่น่าสนใจซื้อขาย ซึ่งประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารเงินลงทุน เช่น

 

1 ลำดับความน่าสนใจของหุ้นหรืออนุพันธ์แต่ละตัว เช่น ถ้ามีหุ้นหรืออนุพันธ์ที่น่าสนใจซื้อขายเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หลายตัว แล้วตัวไหนหล่ะมีความน่าสนใจในการซื้อขายมากกว่าตัวอื่น ๆ

 

2 ความคุ้มค่าในการลงมือแต่ละครั้ง โดยเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนที่จะได้รับกรณีถ้าผลการซื้อขายเป็นไปตามที่คาดแล้วออกมาเป็นกำไรกับผลขาดทุนที่จะต้องเสียไปถ้าผลการซื้อขายไม่เป็นไปตามที่คาดแล้วออกมาเป็นขาดทุนว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่

 

3 ความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุน ซึ่งจะวิเคราะห์ว่าการซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ในแต่ละครั้งจะเสี่ยงขาดทุนด้วยเงินจำนวนเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงกับเงินลงทุนในกรณีที่ผลการซื้อขายออกมาเป็นขาดทุน และควรจัดสรรเงินต้นที่จะใช้ในการซื้อขายแต่ละครั้งไม่เกินเท่าไหร่เพื่อให้มีเงินลงทุนพร้อมรับโอกาสอื่น ๆ ที่จะเข้ามาในอนาคต

 

4 แผนรับมือกรณีที่จะเกิดขึ้นหลังจากลงมือซื้อขายไปแล้วในครั้งนั้น ๆ  โดยหลังจากที่ลงมือซื้อหรือขายไปแล้วถ้าราคาหุ้นหรืออนุพันธ์เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่วิเคราะห์ไว้เกิดผลเป็นกำไรจะมีแผนในการทำกำไรอย่างไร แต่ถ้าถ้าราคาหุ้นหรืออนุพันธ์ไม่เป็นไปตามที่วิเคราะห์ไว้เกิดผลขาดทุนจะมีแผนรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างไร

 

5 วางแผนการบริหารความเสี่ยงในการซื้อขายแบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการกำหนดแนวทางในการบริหารความเสี่ยงและโอกาสในการลงทุนครั้งถัดไป โดยการกำหนดว่าถ้าผลการซื้อขายครั้งนี้ออกมาเป็นกำไรในการซื้อขายครั้งถัดไปจะทำอย่างไร หรือถ้าผลการซื้อขายครั้งนี้ออกมาเป็นขาดทุนในการซื้อขายครั้งถัดไปจะทำอย่าไร เป็นต้น

 

6 ทบทวนแผนการบริหารเงินลงทุน เมื่อผ่านการซื้อขายไปสักระยะหนึ่งควรนำผลการซื้อขายที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงหรือแนวทางในการบริหารเงินลงทุนในอนาคตให้ดีขึ้น

 

วัตถุประสงค์ของ Money Management

           

จะเห็นได้ประเด็นที่เกี่ยวกับการบริหารเงินลงทุนที่ยกตัวอย่างขึ้นมานั้นจะเป็นการกำหนดแนวทางในการซื้อขายที่เน้นให้เราสามารถซื้อขายได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวโดยไม่คาดหวังหรือทุ่มเทให้กับการซื้อขายเพียงครั้งสองครั้ง ลองนึกภาพเล่นๆ ว่าถ้าเราไม่มีการบริหารเงินลงทุนในการซื้อขาย ทุ่มเงินในการซื้อขายอนุพันธ์แต่ละครั้งจำนวนมาก ๆ หากเกิดผลการซื้อขายครั้งที่ขาดทุนหนักๆ เพียงไม่กี่ครั้ง เราอาจจะสูญเงินลงทุนที่มีทั้งหมดก็เป็นได้

 

สรุป

 

ในบทความตอนที่ 1 นี้ประเด็นหลัก คือ ผมอยากนำเสนอให้ผู้ลงทุนในหุ้นหรืออนุพันธ์หันมาให้ความสำคัญกับการบริหารเงินลงทุนในการซื้อขาย และให้ภาพกว้าง ๆ ว่าการบริหารเงินลงทุนพิจารณาประเด็นอะไรบ้าง ในบทความตอนต่อไปผมจะให้ข้อมูลเกี่ยวที่มาและวัตถุประสงค์ของการบริหารเงินลงทุน ยังไงก็ฝากติดตามผลงานกันด้วยนะครับ ^_^

 

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 1

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 2

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 3

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 4

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here