รายละเอียดในสองตอนที่ผ่านมาผมได้แนะนำให้รู้จักกับประเด็นสำคัญ ที่มา และวัตถุประสงค์ของการบริหารเงินลงทุน (Money Management) สำหรับบทความตอนที่ 3 ผมจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนในการบริหารเงินลงทุนก่อนตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ในแต่ละครั้ง โดยขั้นตอนในการบริหารเงินลงทุนนั้นผมแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ขั้นตอน  ได้แก่

(1) หลังจากได้สัญญาณให้เทรดแล้ว จะตัดสินใจลงมือเทรดหรือไม่

(2) ถ้าตัดสินใจลงมือเทรดจะกำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้งไว้เท่าไหร่

(3) จัดสรรเงินทุนที่ต้องใช้ในการซื้อขายในแต่ละครั้งเพื่อให้เทรดได้หลาย ๆ ตัวด้วย

และ (4) คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาของอนุพันธ์ที่จะซื้อขายในแต่ละครั้ง

 

เราลองมาดูรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนกันครับว่ามีอะไรบ้าง

 

หมายเหตุ : ในบทความนี้จะเป็นขั้นตอนก่อนลงมือเทรดนะครับ ส่วนหลังลงมือเทรดไปแล้วก็จะมีหลักการบริหารเงินลงทุนด้วยเช่นเดียวกันแต่จะพูดถึงในตอนถัด  ๆ ไปครับ

 

ขั้นตอนที่1 : ตัดสินใจว่าจะลงมือเทรดหรือไม่

               

ถึงแม้การวิเคราะห์ข้อมูลจากกราฟราคา กราฟ Volume หรือ Indicators จนะได้ข้อสรุปว่าปัจจุบันเป็นจังหวะที่น่าสนใจเทรดแล้วก็ตาม แต่บางครั้งเราอาจจะตัดสินใจไม่ลงมือเทรดครั้งนั้น ๆ ก็ได้ เนื่องจากผลตอบแทนที่จะได้รับไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง

 

การตัดสินใจว่าจะลงมือเทรดหรือไม่จะพิจารณา”ความคุ้มค่า” โดยเปรียบเทียบระหว่างกำไรที่คาดว่าจะได้รับในกรณีถ้าการเทรดครั้งนั้นเป็นกำไร (Reward) กับผลขาดทุนที่จะเกิดขึ้น (Risk) ถ้าการเทรดครั้งนั้นผลออกมาเป็นขาดทุน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Reward to Risk Ratio

 

การคำนวณ Reward หาได้จาก เอาราคาเป้าหมายที่คาดว่าน่าจะไปถึง ลบด้วยราคาที่จะลงมือเทรด

ส่วนการคำนวณ Risk หาได้จาก ราคาที่จะลงมือเทรด ลบด้วยราคาที่จะตัดขาดทุน

RRR

 

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้สัญญาณซื้อขายที่น่าสนใจของอนุพันธ์ตัวหนึ่ง แต่ปรากฏว่าลองเปรียบเทียบผลกำไรขาดทุนแล้วพบว่า ถ้าการซื้อขายครั้งนี้ผลออกมาเป็นกำไรโดยเทียบจากราคาเป้าหมายจะได้กำไรทั้งหมด 20,000 บาท แต่ถ้าผลออกมาเป็นขาดทุนจากราคาตัดขาดทุนจะขาดทุน 50,000 บาท เราก็จะไม่ลงมือซื้อขายเพราะผลตอบแทนไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง (ได้ไม่คุ้มเสีย) ถึงแม้ว่าจะเกิดสัญญาณให้เข้าซื้อทางเทคนิคก็ตาม

 

แล้ว Reward to Risk Ratio เท่าไหร่ถึงจะเรียกว่าคุ้มค่า???? …… โดยทั่วไปผมจะแนะนำว่า ถ้าเราไม่เคยวิเคราะห์ข้อมูลการเทรดของเราในอดีต Reward to Risk ควรจะมากกว่า 2 ขึ้นไปถึงจะถือว่าคุ้มค่า แต่ว่าค่านี้ก็ไม่ใช่สูตรสำเร็จนะครับ เนื่องจากหากอยากวิเคราะห์ให้ละเอียดขึ้นอีก เราควรจะรู้ค่า % Win Ratio ของเราด้วย เพราะถ้าหากใครที่ใช้กลยุทธ์ที่มี %Win Ratio สูง ๆ ค่า Reward to Risk Ratio ก็อาจจะปรับลดลงก็ได้ แต่ที่ผมแนะนำว่าที่ควรจะมากกว่า 2 ขึ้นไป เนื่องจาก โดยทั่วไป % Win Ratio ของคนที่ใช้กลยุทธ์ซื้อขายตามทิศทางของแนวโน้ม (Trend Following) จะอยู่ประมาณ 40% +/- เท่านั้น (เทรด 10 ครั้ง กำไรประมาณ 4 ครั้ง ขาดทุนประมาณ 6 ครั้ง)

 

ข้้นตอนที่ 2 : กำหนดจำนวนเงินสูงสุดที่จะเสี่ยงขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้ง         

 

การลงมือเทรดหุ้นหรืออนุพันธ์แต่ละครั้งควรมีการกำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดเป็นจำนวนเงินเท่าไร ซึ่งส่วนมากจะกำหนดเป็นเปอร์เซ็นเทียบกับจำนวนเงินลงทุนทั้งหมด เช่น ถ้ามีเงินลงทุน 500,000 บาท และถ้าเรากำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2 % ในการเทรดแต่ละครั้งจะต้องขาดทุนไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น

 

สำหรับแนวทางที่ใช้ในการหาเปอร์เซ็นของเงินที่จะเสี่ยงสูงสุดจากเงินลงทุนที่มีอยู่ทั้งหมดในการเทรดแต่ละครั้งที่เหมาะสมมีอยู่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น

  1. ถ้าเราพิจารณาด้านความเสี่ยงเป็นหลัก อาจจะใช้วิธีวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อให้ซื้อขายแล้วไม่หมดตัว (Risk of Ruin) (รายละเอียดอยู่ในตอนที่ 4 ตอน เทรดอย่างไรไม่มีเจ๊ง)
  2. ถ้าพิจารณาด้านผลตอบแทน อาจจะใช้วิธีหาสัดส่วนที่ทำให้เกิดผลกำไรสูงสุดจากการซื้อขายต่อเนื่องในระยะยาว (Optimal Fraction หรือ Kelly Criterion) (ลองหาอ่านโดยค้นหาจาก google กันได้ครับ) เป็นต้น

 

ขั้นตอนที่ 3 : การจัดสรรเงินทุนที่ต้องใช้ในการเทรดในแต่ละครั้ง

 

เนื่องจากทุกคนมีเงินสำหรับใช้ในการเทรดจำกัด ดังนั้นจึงต้องมีการจัดสรรเงินทุนสูงสุดในการซื้อขายแต่ละครั้งด้วยเพื่อให้สามารถกระจายซื้อหุ้นหรืออนุพันธ์ได้หลาย ๆ ตัว (Diversification) สมมติว่าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท และต้องการกระจายความเสี่ยงในการซื้อขายอนุพันธ์ทั้งหมด 10 ตัว หมายความว่าในการซื้อขายแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินลงทุนไม่เกิน 50,000 บาท

 

ข้อสังเกต : เงินที่ใช้ในการเทรดแต่ละครั้ง (ในขั้นตอนที่ 3) กับเงินที่เสี่ยงขาดทุนในการเทรดแต่ละครั้ง (ในขั้นตอนที่ 2) ไม่ใช่ตัวเลขเดียวกัน ตัวอย่างข้างต้น ถึงแม้ว่าเราจะใช้เงินในการเทรด 50,000 บาท แต่การเทรดครั้งนั้นถ้าอาจจะไม่ได้เสี่ยงขาดทุนทั้งหมด 50,000 บาทก็ได้ (ดูตัวอย่างในการคำนวณได้ในขั้นตอนที่ 4)

 

ประเด็นที่เกี่ยวกับการจัดสรรเงินในการเทรดอีกอย่างหนึ่ง คือ ควรจำกัดเงินลงทุนที่ใช้เทรดหุ้นหรืออนุพันธ์ที่สินค้าอ้างอิงมีทิศทางของราคาไปในทางเดียวกัน (Correaltion) เพราะ ถือว่าไม่เป็นการกระจายความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในทองคำ โลหะเงิน แพลทินัม พร้อม ๆ กันไม่ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยง เนื่องจากเป็นโลหะมีค่าเหมือนกันราคามักจะเคลื่อนที่ขึ้นลงเหมือนกัน หรือซื้อหุ้น PTT PTTEP TOP BCP PTTGC พร้อม ๆ กันก็ไม่ถือว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงเพราะราคาหุ้นมีแนวโน้มที่จะขึ้นหรือลงเหมือน ๆ กันตามราคาน้ำมัน เป็นต้น

 

เทคนิคส่วนตัวเวลาผมแบ่งเงินที่ใช้ในการเทรดแต่ละครั้งให้ไม่เกิน 10-15% ของเงินที่มีทั้งหมด โดยสามารถลงทุนในหุ้นหรืออนุพันธ์พร้อม ๆ กันได้มากที่สุดประมาณ 8-10 ตัว (กระจายโอกาส)

 

ขั้นตอนที่ 4 : คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาที่จะเทรดในแต่ละครั้ง

 

หลังจากผ่านขั้นตอนที่ 2 และ 3 เราจะได้เงื่อนไขของการบริหารเงินลงทุนก่อนตัดสินใจลงมือเทรดอ 2 เงื่อนไข คือ 1) จำนวนเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้ง และ 2) จำนวนเงินสูงสุดที่จะใช้ในการลงทุนแต่ละครั้ง จากนั้นก็สามารถคำนวณจำนวนหุ้นที่จะซื้อขายในแต่ละครั้ง หรือจำนวนสัญญาของอนุพันธ์ที่จะซื้อขายในแต่ละครั้งได้โดย

1 คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาสูงสุดที่จะซื้อขายในแต่ละครั้งจากเงื่อนไขแรก โดยนำจำนวนเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้งหารด้วยจำนวนที่คาดว่าจะขาดทุนต่อหุ้นหรือต่อ 1 สัญญา

2 คำนวณจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาสูงสุดที่จะซื้อขายในแต่ละครั้งจากเงื่อนไขที่สอง โดยคำนวณจากจำนวนเงินที่จะใช้ในการลงทุนสูงสุดในแต่ละครั้งหารด้วยเงินที่ต้องใช้ในการเทรด 1 หุ้นหรือ 1 สัญญา

 

จากนั้นนำค่าที่คำนวณได้จากทั้ง 2 เงื่อนไขมาเปรียบเทียบกัน และตัดสินใจซื้อขายตามจำนวนที่น้อยกว่า

 

ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินลงทุน 500,000 บาท จะเสี่ยงขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% และจะใช้เงินในการซื้อขายแต่ละครั้งไม่เกิน 15% ปัจจุบันกำลังสนใจซื้อหุ้นตัวหนึ่งที่ราคาปัจจุบัน 80.00 บาท เราคำนวณจุดที่จะตัดขาดทุนได้ที่ 76.50 บาท เราควรจะซื้อหุ้นครั้งนี้กี่หุ้น?

 

เงื่อนไขที่ 1 พิจาณาจากเงินที่จะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดในแต่ละครั้ง : เสี่ยงจะขาดทุนครั้งละไม่เกิน 2% ของเงินลงทุน 500,000 บาท = 10,000 บาท

ถ้าผลการเทรดครั้งนี้ออกมาเป็นขาดทุน เราจะขาดทุนอยู่ที่

ราคาตัดขาดทุน – ราคาต้นทุน คือ 76.50 – 80.00 = -3.50 บาท ต่อหุ้น

แต่เราไม่ต้องการเสี่ยงที่จะขาดทุนเกินครั้งละ 10,000 บาท ดังนั้นเราซื้อหุ้นได้ทั้งหมดไม่เกิน 10,000 / 3.50 = 2,857 หุ้น

 

เงื่อนไขที่ 2 พิจารณาจากเงินที่จะใช้ในการซื้อขายสูงสุดในแต่ละครั้ง : ใช้เงินซื้อหุ้นครั้งละไม่เกิน 15% ของ 500,000 บาท = 75,000 บาท

เงิน 50,000 บาท สามารถซื้อหุ้นที่ราคาหุ้นละ 80.00 บาทได้ทั้งหมด (จำนวนเงินที่จะซื้อหุ้น / ราคาหุ้น) คือ 75,000 / 80.00 = 937 หุ้น

 

สรุปจำนวนหุ้นที่จะเทรดในครั้งนี้ : จากทั้ง 2 เงื่อนไขรวมกันสรุปได้ว่าเราสามารถซื้อหุ้นทั้งหมด 900 หุ้น (หน่วยที่เล็กที่สุดที่จะเทรดได้ใน SET = 100 หุ้น ) โดยติดเงื่อนไขที่ 2 เรื่องเงินที่ใช้ในการเทรดสูงสุดในแต่ละครั้ง โดยจะใช้เงินซื้อหุ้นทั้งหมด 900 x 80.00 = 72,000 บาท และมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนในการเทรดหุ้นครั้งนี้ คือ = 900 x 3.50 = 3,150 บาท

 

สรุป

 

สำหรับบทความตอนที่ 3 นี้ผมหวังว่าเพื่อน ๆ จะได้มุมมองเบื้องต้นว่าเวลาจะตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นหรืออนุพันธ์ในแต่ละครั้งมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนที่ 1 จะเป็นการตัดสินใจว่าเราจะลงมือเทรดดีหรือไม่ โดยถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณซื้อขายจากการวิเคราะห์กราฟเราอาจจะไม่ลงมือเทรดก็ได้ถ้าไม่คุ้ม ส่วนขั้นตอนที่ 2-4 เป็นการหาจำนวนหุ้นหรือจำนวนสัญญาของอนุพันธ์ที่จะเทรด หลังจากที่เราตัดสินใจได้แล้วว่าจะลงมือเทรด

 

MM-Step

 

ส่วนในตอนหน้า อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 4 ผมจะแนะนำวิธีการกำหนดว่าจะเสี่ยงขาดทุนสูงสุดต่อการเทรดหนึ่งครั้งนั้นควรจะเป็นเท่าไหร่ดี เพื่อให้สามารถอยู่รอดในตลาดได้ในระยะยาว หรือเทรดแล้วไม่เจ๊งนั่นเอง ยังไงก็ฝากติดตามกันด้วยนะครับ

 

 

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 1

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 2

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 3

ซีรีส์ อ่านกราฟเก่งแค่ไหนก็ไม่กำไร ถ้าไม่บริหารเงินลงทุน ตอนที่ 4

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here