RSI เป็น Indicator ที่ใช้วิเคราะห์ Momentum
เนื้อหาในตอนนี้จะแนะนำให้รู้จักกับ RSI (Relative Strength Index) ซึ่งเป็น Indicator ยอดฮิตอีกตัวที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดย RSI เป็น Indicator ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ แรงส่งของราคาหุ้น หรือ Momentum (สามารถทำความเข้าใจความหมายของ Momentum ได้จากบทความ ” MACD อยากใช้ ต้องรู้อะไรบ้าง” )
ในช่วงแรกผมจะขออธิบายสูตรของ RSI ก่อน ในลำดับต่อมาจะแนะนำเกี่ยวกับการแปลความหมายจากค่า RSI ที่ได้จากการคำนวณ และลักษณะหน้าตาของกราฟ RSI ว่าจะให้ข้อมูลอะไรพร้อมทั้งวิธีการนำ RSI ไปใช้ในแบบที่ไม่ถูกต้องและแบบที่ถูกต้อง
ถ้าอยากรู้ว่า RSI คำนวณยังไง
RSI เป็น Indicator ที่พัฒนาโดย J. Welle Wilder ซึ่งคนนี้พัฒนา Indicators อีกหลายตัวที่เป็นที่นิยมในหมู่คนเล่นหุ้นเทคนิค เช่น ADX (Average Directional Index), True Range เป็นต้น ซึ่งสูตรในการคำนวณ RSI คือ
ใครสนใจวิธีการคำนวณหาค่าอย่างละเอียด คลิก
ข้อสังเกตของค่า RSI
จากสูตรของ RSI จะสังเกตได้ว่า
1 ถ้าราคาหุ้นในวันถัดไปเพิ่มขึ้น RSI จะเพิ่มขึ้น
2 ถ้าราคาหุ้นในวันถัดไปลดลง RSI จะลดลงด้วย
3 ถ้าราคาหุ้นในวันถัดไปราคาไม่เปลี่ยนแปลง RSI จะมีค่าเท่าเดิม
4 ถ้า Average Gain มากกว่า Average Loss ค่า RS จะมากกว่า 1 และ RSI จะมากกว่า 50
5 ถ้า Average Gain น้อยกว่า Average Loss ค่า RS จะน้อยกว่า 1 และ RSI จะน้อยกว่า 50
6 ถ้า Average Gain เท่า Average Loss ค่า RS จะเท่ากับ 1 และ RSI จะเท่ากับ 50
7 RSI จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100
8 ถ้า Average Gain ยิ่งน้อย (ราคาหุ้นลงแทบจะทุกวันไม่ค่อยมีวันที่หุ้นขึ้น) ค่า RSI จะเข้าใกล้ 0
9 ถ้า Average Loss ยิ่งน้อย (ราคาหุ้นขึ้นแทบจะทุกวันไม่ค่อยมีวันที่หุ้นลง) ค่า RSI จะเข้าใกล้ 100
10 จากประสบการณ์ของผมพบว่า น้อยครั้งมากที่จะเจอ RSI น้อยกว่า 10 หรือมากกว่า 90
วิธีแสดงค่า RSI เพื่อนำไปใช้งาน
การวิเคราะห์ RSI จะคำนวณค่าของ RSI ออกมาหลาย ๆ ค่า ต่อเนื่องกัน และนำค่า RSI ที่คำนวณได้มา วาดเป็นการเส้นคู่ไปกับกราฟของราคาหุ้น แต่จะวาดกราฟเส้นของ RSI บนพื้นที่ใหม่แยกออมาจากกราฟราคาหุ้น และในโปรแกรมการวิเคราะห์กราฟหุ้น ส่วนใหญ่ จะมีการลากเส้น แนวนอนของค่า RSI = 70 และค่า RSI = 30 ควบคู่ไปด้วย
รูปตัวอย่างแสดงกราฟเส้น RSI ควบคู่ไปกับกราฟราคาหุ้น
อ่านข้อมูล Momentum จาก RSI ได้อย่างไร
จากสูตรของ RSI คือ กรณีที่ RSI เท่ากับ 50 เกิดจากการที่ Average Gain มีค่าเท่า Average Loss การระบุทิศทางของ Momentum ผมจึงยึดจุดที่ RSI เท่ากับ 50 เป็นจุดสมดุลของ Momentum ระหว่างขาขึ้นและขาลง และใช้แบ่งว่า Momentum นั้นกำลังอยู่ในทิศทางไหน
ถ้า RSI มากกว่า 50 ผมจะถือว่า Momentum ที่กำลังจะพิจารณาอยู่นั้นเป็น Momentum ในทิศทางขาขึ้น แต่ถ้า RSI น้อยกว่า 50 ผมจะถือว่า Momentum ที่กำลังพิจารณาเป็น Momentum ในทิศทางขาลง
เมื่อคำนวณค่าของ RSI ออกมาหลาย ๆ ค่า และนำมาวาดเป็นกราฟเส้นแบบต่อเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบกับค่า RSI ของวันก่อนหน้าและดูทิศทางแนวโน้มของกราฟ RSI จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Momentum เพื่อนำมาใช้เป็นไอเดียในการเทรด โดยผมจะแบ่งออกเป็น 6 กรณี คือ
(สมมติตั้งค่า Parameter ในการคำนวณค่า RSI ไว้ที่ 14 วัน)
กรณีที่ 1 RSI มากกว่า 50 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า
การที่ RSI มีค่ามากกว่า 50 แปลว่า Average Gain มากกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นกำลังปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ตีความได้ว่า Momentum อยู่ในทิศทางขาขึ้นด้วย และ RSI ยังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในวันถัดมา หมายความว่า Average Gain / Average Loss ยังเพิ่มขึ้นอีกจากการที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น แปลว่าราคาหุ้นในช่วง 14 วันล่าสุดมีค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นต่อค่าเฉลี่ยของการลดลง เพิ่มขึ้นจาก 14 วันก่อนหน้า จึงสรุปว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นเพิ่มขึ้น เป็นมุมมองเชิงบวกต่อราคาหุ้น
กรณีที่ 2 RSI มากกว่า 50 แต่มีค่าลดลงจากวันก่อนหน้า
การที่ RSI มีค่ามากกว่า 50 แปลว่า Average Gain มากกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นกำลังปรับตัวสูงขึ้น ถ้า RSI ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าแต่ยังมีค่ามากกว่า 50 หมายความว่า Average Gain / Average Loss ลดลงจากการที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลง แปลว่าราคาหุ้นในช่วง 14 วันล่าสุด มีค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นต่อค่าเฉลี่ยของการลดลง ลดลงจาก 14 วันก่อนหน้า จึงสรุปว่า Momentum ในทิศทางขาขึ้นลดต่ำลง เป็นมุมมองเชิงลบต่อราคาหุ้น
กรณีที่ 3 RSI วันก่อนหน้ามากกว่า 50 แต่ RSI ในวันปัจจุบันลดต่ำลงเป็นน้อยกว่า 50
การที่ RSI มีค่ามากกว่า 50 แปลว่า Average Gain มากกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นปรับตัวสูงขึ้น การที่ RSI มีค่าน้อยกว่า 50 แปลว่า Average Gain มากกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นปรับลดลง ดังนี้ถ้า RSI เปลี่ยนจากค่าที่มากกว่า 50 เป็นค่าที่น้อยกว่า 50 แปลว่า Momentum มีการเปลี่ยนทิศทางจากขาขึ้นเป็นทิศทางขาลง
กรณีที่ 4 RSI น้อยกว่า 50 และลดลงอีกจากวันก่อนหน้า
การที่ RSI มีค่าน้อยกว่า 50 แปลว่า Average Gain น้อยกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นปรับตัวลดลง Momentum จึงอยู่ในทิศทางขาลงด้วย ถ้าในวันถัดมา RSI ยังปรับตัวลดลงอีกและมีค่าน้อยกว่า 50 หมายความว่า Average Gain / Average Loss มีค่าลดลง แปลความหมายได้ว่าว่าราคาหุ้นในช่วง 14 วันล่าสุด มีค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นต่อค่าเฉลี่ยของการลดลง ลดลงจาก 14 วันก่อนหน้า จึงสรุปว่า Momentum ในทิศทางขาลงเพิ่มมากขึ้น เป็นมุมมองเชิงลบต่อราคาหุ้น
กรณีที่ 5 RSI น้อยกกว่า 50 แต่เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า
การที่ RSI มีค่าน้อยกว่า 50 แปลว่า Average Gain น้อยกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นปรับตัวลดลง Momentum ยังคงเป็นทิศทางขาลงอยู่ ถ้า RSI เพิ่มขึ้นแต่ยังน้อยกว่า 50 หมายความว่า Average Gain / Average Loss ลดลง แปลว่าราคาหุ้นในช่วง 14 วันล่าสุด มีค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นต่อค่าเฉลี่ยของการลดลง เพิ่มขึ้น จาก 14 วันก่อนหน้า จึงสรุปว่า Momentum ทิศทางขาลงลดลง ให้มุมมองเชิงบวกกับราคาหุ้น
กรณีที่ 6 RSI วันก่อนหน้าน้อยกว่า 50 แต่ RSI ในวันปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นเป็นมากกว่า 50
การที่ RSI มีค่าน้อยกว่า 50 แปลว่า Average Gain น้อยกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นปรับลดลง ส่วนวันถัดมาการที่ RSI มีค่ามากกว่า 50 แปลว่า Average Gain มากกว่า Average Loss อยู่ในช่วงที่หุ้นปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อ RSI เปลี่ยนจากค่าที่น้อยกว่า 50 เป็นค่าที่มากกว่า 50 แปลว่า Momentum มีการเปลี่ยนทิศทางจากมุมมองเชิงลบ เป็นมุมมองเชิงบวกต่อราคาหุ้น
เชื่อว่าหลายคนอ่านตารางข้างบนทั้ง 6 กรณีแล้วจะต้องงงแน่ ๆ… เอาอย่างนี้ละกัน ถ้าอ่านตารางด้านบนไม่เข้าใจ ลองดูด้านล่างเพิ่มเติม
รูปแสดงการให้ข้อมูล Momentum ของ RSI
อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบระหว่างค่า RSI ที่ห่างกันเพียงแค่หนึ่งวันหรือสองวันนั้นอาจไม่สามารถให้ข้อมูลที่ดีในการเทรด จึงต้องดูเปรียบเทียบหลาย ๆ ค่าเป็นแนวโน้มของกราฟ RSI ด้วย
ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ Overbought/Oversold
ในการวาดกราฟเส้น RSI นั้น โปรแกรมที่วิเคราะกราฟหุ้น จะมีการลากเส้นแนวนอนของค่า RSI เท่ากับ 30 และ 70 เอาไว้ด้วย และยังมีการตั้งชื่อพื้นที่ในส่วนที่ RSI มากกว่า 70 ว่าเขต Overbought และตั้งชื่อพื้นที่ในส่วนที่ RSI น้อยกว่า 30 ว่า Oversold
รูปแสดงพื้นที่ Overbought และ Oversold
คำว่า Overbought ถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า “ซื้อมากเกินไป” และคำว่า oversold ก็ถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า “ขายมากเกินไป” จึงมีหลายคนตีความว่าถ้า ค่า RSI ขึ้นไปสูงกว่า 70 แปลว่ามีคนซื้อหุ้นมากเกินไปอนาคตหุ้นจะลง ให้ขายหุ้น หรือ เมื่อ RSI มีค่าต่ำกว่า 30 แปลว่ามีคนขายมากเกินไปอนาคตหุ้นจะขึ้น ให้ซื้อหุ้น ซึ่งเป็นวิธีแปลความหมาย RSI ที่ไม่ถูกต้อง
รูปตัวอย่างแสดงการใช้งาน RSI ที่ไม่ถูกต้องโดยการขายหุ้นเมื่อ RSI > 70 และซื้อหุ้นเมื่อ RSI <30
ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับ Divergence
ความหมายของ Divergence ในการวิเคราะห์ Indicators คือ การที่ Indicators ให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของกราฟราคาหุ้น โดยการพิจารณาสัญญาณ Divergence มักจะใช้กับ Indicators ประเภทที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ แรงส่งของราคา (Momentum) และ Indicators ประเภทที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความแข็งแกร่งของแนวโน้ม
วิธีการพิจารณาสัญญาณ Divergence ที่นิยมคือ การเปรียบเทียบจุดสูงสุดของกราฟราคาหุ้นกับจุดสูงสุดของกราฟเส้น Indicators และการเปรียบเทียบจุดต่ำสุดของกราฟราคาหุ้นกับจุดต่ำสุดของกราฟเส้น Indicators เพื่อดูว่ามีทิศทางเดียวกัน (Convergence) หรือทิศทางไม่สอดคล้องกัน (Divergence)
ในกรณีที่กราฟราคาหุ้นกับกราฟ Indicators ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน (Divergence) ได้แก่
1) กรณีที่กราฟราคาหุ้นสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ แต่กราฟ Indicators ประเภท Momentum ไม่สามารถสร้างจุดสูงสุดใหม่ได้เช่นเดียวกับกราฟของราคา ซึ่งแปลความหมายได้ว่า Momentum ที่จะเป็นแรงส่งให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นในครั้งนี้ต่ำลงกว่าก่อนหน้า จึงเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า ให้เราใกล้ชิดกับกราฟของราคาให้มากขึ้น เพราะในอนาคตราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มจากทิศทางขาขึ้นเป็นทิศทางขาลงแล้วก็เป็นไปได้ (Bearish Divergence : คาดว่าราคาหุ้นน่าจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาลง)
2) กรณีที่กราฟราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่ แต่กกราฟ Indicators ประเภท Momentum ไม่สามารถสร้างจุดต่ำสุดใหม่เช่นเดียวกับกราฟของราคา ก็จะแปลความหมายได้ว่า Momentum ที่จะเป็นแรงส่งให้ราคาปรับตัวลดลงต่อในครั้งนี้เริ่มลดลงกว่าครั้งก่อนหน้า ก็จะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าให้ติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน เพราะในอนาคตราคาหุ้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มจากทิศทางขาลงเป็นทิศทางขาขึ้นก็ได้ (Bullish Divergence : คาดว่าราคาหุ้นน่าจะเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น)
รูปแสดงตัวอย่างกรณีราคาหุ้นและ Indicators มีสัญญาณ Divergence
กราฟเส้น RSI เป็น Indicators ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Momentum แต่การที่ลงมือขายหุ้นทันทีที่ RSI ส่งสัญญาณ Beraish Divergence หรือลงมือซื้อหุ้นทันทีเมื่อ RSI ส่งสัญญาณ Bullish Divergence เป็นวิธีการใช้งาน RSI ที่ไม่ถูกต้อง เพราะสัญญาณ Divergence เป็นเพียงสัญญาณเตือนล่วงหน้าเท่านั้น ยังไม่ใช่สัญญาณที่จะให้ลงมือซื้อหรือขายหุ้นทันที
ทำไมห้ามลงมือทันทีหลังมีสัญญาณจาก RSI
เหตุผลที่ผมห้ามซื้อขายทันทีหลังเกิดสัญญาณ Overbought , Oversold หรือ Divergence จาก RSI เป็นเหตุผลเดียวกับการใช้งานใช้งาน Indicators ตัวอื่น ๆ เช่น การใช้งาน Moving Average ที่ไม่ถูกต้อง และการใช้งาน MACD ที่ไม่ถูกต้อง นั่นก็คือ ลงมือซื้อขายด้วยวิธีนี้แล้ว ในระยะยาวจะไม่ได้กำไร และมีโอกาสขาดทุนสูงนั่นเอง
ลองมาดูรูปตัวอย่าง 4 รูปด้านล่างกันครับ ถ้าตัดสินซื้อหรือขายหุ้นเมื่อเกิดสัญญาณ Overbought หรือ Oversold หรือ Divergence จาก RSI ทันที คุณอาจจะเจอกับเหตุการณ์ ขายหมู หรือซื้อของแพงก็เป็นไปได้
รูปตัวอย่างแสดงการขายหุ้นเมื่อ RSI อยู่ในเขต Overbought แต่พบว่าราคาหุ้นยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รูปตัวอย่างแสดงการซื้อหุ้นเมื่อ RSI อยู่ในเขต Oversold แต่พบว่าราคาหุ้นยังลดลงอย่างต่อเนื่อง
รูปตัวอย่างแสดงการขายหุ้นเมื่อ RSI เกิดสัญญาณ Bearish Divergenceแต่พบว่าราคาหุ้นยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รูปตัวอย่างแสดงการซื้อหุ้นเมื่อ RSI เกิดสัญญาณ Bullish Divergence แต่พบว่าราคาหุ้นยังลดลงอย่างต่อเนื่อง
ข้อแนะนำการใช้งาน Indicators ที่ขอย้ำอีกสักรอบ
จากคำอธิบายและตัวอย่างที่แสดงให้เห็นข้างต้น ขอสรุปเป็นหลักการใช้งาน RSI รวมทั้ง Indicators ทุกประเภทแบบไม่ถูกต้อง คือ การตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นโดยใช้สัญญาณจาก RSI หรือ Indicators เพียงอย่างเดียว โดยไม่ดูกราฟราคาหุ้น เป็นการซื้อขายหุ้นโดยใช้ Indicators ที่ไม่ถูกต้อง ครับ เพราะ ค่าของ Indicators ถูกคำนวณจากราคาหุ้นและปริมาณการซื้อขาย ดังนั้น ค่า Indicators ไม่ได้มีอำนาจควบคุมการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นในอนาคต ในทางกลับกันราคาหุ้นและปริมาณซื้อขายต่างหากที่จะส่งผลว่า Indicators จะถูกคำนวณค่าออกมาเป็นเท่าไร
สัญญาณ Overbought/OverSold และ Divergence ของ RSI ใช้งานไม่ได้หรือ ?
คำตอบ คือ ใช้งานได้ครับ… ผมจะยกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าลงมือซื้อหุ้นตามสัญญาณ Oversold ของ RSI (กรณี RSI น้อยกว่า 30) หรือลงมือขายหุ้นตามสัญญาณ Overbought (กรณีที่ RSI มากกว่า 70) หรือ Divergence ของ RSI ถือได้ว่าเป็นจังหวะในการซื้อขายหุ้นที่ดีมาก ๆ เลยทีเดียว
รูปตัวอย่างที่สัญญาณ Overbought ของ RSI สามารถให้จังหวะในการขายหุ้นได้เป็นอย่างดี และสัญญาณ Oversold ของ RSI สามารถให้จังหวะในการซื้อหุ้นได้เป็นอย่างดี
รูปตัวอย่างสัญญาณ Bearish Divergence สามารถให้จังหวะในการขายหุ้นได้เป็นอย่างดี
รูปตัวอย่างสัญญาณ Bullish Divergence สามารถให้จังหวะในการซื้อหุ้นได้เป็นอย่างดี
สัญญาณจาก RSI บางทีก็ใช้งานได้ดี บางทีก็ใช้งานไม่ได้
ก่อนหน้านี้ผมได้ยกตัวอย่างให้เห็นกรณีที่ลงมือซื้อขายหุ้น โดยตัดสินใจจากสัญญาณ Overbought Oversold และ Divergence แล้วไม่ได้ผลดี แต่บทความนี้กลับยกตัวอย่างที่ลงมือซื้อขายหุ้นจากสัญญาณ Overbought Oversold และ Divergence แล้วได้ผลดี หลายคนคงอาจจะกำลังสับสนว่าตกลงมันยังไงกันแน่ สัญญาณจาก RSI เอาไปใช้ได้จริงหรือใช้ไม่ได้?
ประเด็นที่ผมอยากบอกกับผู้อ่านก็คือ สัญญาณจาก Indicators ทุกตัว รวมทั้ง RSI ไม่สามารถทำนายได้ถูกต้อง 100% ว่าอนาคตราคาหุ้น หรือกราฟราคาหุ้น จะต้องเคลื่อนที่ไปในทิศทางไหน
ดังนั้นเวลาวิเคราะห์ RSI ถ้าเราลงมือซื้อขายหุ้นจากสัญญาณของ RSI บางทีก็ใช้ซื้อขายหุ้นแล้วได้กำไร บางทีก็ใช้ซื้อขายหุ้นแล้วขาดทุน ถ้าเราเข้าใจความจริงจุดนี้ก่อนจะทำให้เราไม่คาดหวังผลจากการวิเคราะห์ Indicators หรือ RSI มากจนเกินไป
ใช้ RSI เป็นสัญญาณเตือน !!!
เมื่อเกิดสัญญาณจาก RSI ให้คิดว่าเรากำลังเจอกับป้ายเตือนภัย เมื่อเราเจอป้ายเตือนภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายเตือนบนท้องถนน หรือป้ายเตือนตามโรงงาน สิ่งที่ควรทำก็คือ ให้เพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น อย่างเช่น เวลาที่เราเจอป้ายเตือนให้ระวังของตกในพื้นที่โรงงานบริเวณที่มีการวางของซ้อนทับกันขึ้นไปสูง ๆ ไม่ได้หมายความว่าบริเวณจะต้องมีของตกลงมาทุกครั้งที่เราเดิมผ่าน เพียงแต่ให้ข้อมูลว่าในบริเวณนั้นมีความน่าจะเป็นที่สูงที่จะมีของตกลงมาทำให้บาดเจ็บได้ เราจึงควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเวลาเดินผ่านหรือเข้าไปใกล้ ๆ บริเวณ หรือหากเป็นไปได้ก็สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บ เป็นต้น
RSI ก็เช่นกัน เวลาที่เกิดสัญญาณจาก RSI ไม่ว่าจะเป็น Overbought Oversold หรือ Divergence ก็ให้เราใช้สัญญาณนั้นเป็นสัญญาณเตือน ให้เพิ่มความระมัดระวัง และติดตามกราฟการเคลื่อนที่ของราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดยิ่งขี้น เนื่องจากอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางในอนาคต เช่น
สัญญาณ Overbought หมายความว่า ราคาหุ้นได้เพิ่มสูงขึ้นมาก ให้ระวังว่าราคาหุ้นอาจจะมีการพักตัวชั่วคราว หรืออาจจะปรับตัวลดลงในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลดลงจริง ๆ ในอนาคต
สัญญาณ Oversold หมายความว่า ราคาหุ้นได้ลดลงมากแล้ว ให้ระวังว่าราคาหุ้นอาจจะมีการเด้งขึ้นชั่วคราว หรืออาจจะปรับตัวสูงขึ้นขึ้นในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นจริง ๆ ในอนาคต
สัญญาณ Bearish Divergence หมายความว่า Momentum ของราคาหุ้นในทิศทางขาขึ้น เริ่มอ่อนแรง ให้ระวังว่าราคาหุ้นอาจจะมีการพักตัวชั่วคราว หรืออาจจะปรับตัวลดลงในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวลดลงจริง ๆ ในอนาคต
สัญญาณ Bullish Divergence หมายความว่า Momentum ของราคาหุ้นในทิศทางขาลง เริ่มอ่อนแรง ให้ระวังว่าราคาหุ้นอาจจะมีการเด้งขึ้นชั่วคราว หรืออาจจะปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นจะต้องปรับตัวขึ้นจริง ๆ ในอนาคต
ตัดสินใจลงมือซื้อขายจากกราฟราคาหุ้นเท่านั้น
เมื่อ RSI เกิดสัญญาณเตือน ไม่ว่าจะเป็น Ovebought Oversold หรือ Divergence ก็ตาม เราจะใช้สัญญาณเหล่านี้เป็นสัญญาณที่บอกว่าหุ้นตัวนี้เริ่มมีความน่าสนใจ หรือเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าราคาหุ้นในอนาคตอาจมีการเปลี่ยนแปลงทิศทาง เพื่อให้เราติดตามกราฟราคาอย่างใกล้ชิดเพื่อหาจังหวะที่ลงมือซื้อหรือขายที่ดีต่อไป หรือเป็นสัญาณ แต่การหาจังหวะลงมือซื้อขายหุ้นที่ดีนั้น จะต้องกลับไปวิเคราะห์จากกราฟราคาหุ้นเสมอ เนื่องจากกราฟราคาหุ้นเป็นข้อมูลที่ใช้แสดงพฤติกรรมของคนที่เข้ามาซื้อขายในตลาดได้ดีที่สุด
รูปแสดงขั้นตอนการใช้งาน RSI ที่ถูกต้อง โดยใช้สัญญาณจาก RSI เป็นสัญญาณเตือน แต่ตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจากการวิเคราะห์กราฟราคาหุ้นเท่านั้น
รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นกรณีที่ RSI ส่งสัญญาณ Overbought แต่หลังจากติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดแล้วไม่มีสัญญาณให้ขายจึงถือหุ้นต่อ ทำให้ไม่ได้ลงมือขายหุ้นจากสัญญาณ Overbought ของ RSI
รูปตัวอย่างถัดมาแสดงให้เห็นกรณีที่ RSI ส่งสัญญาณ Overbought หลังจากติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดแล้วเกิดสัญญาณให้ขายจากการทำจุดต่ำสุดใหม่ จึงค่อยตัดสินใจขายลงมือหุ้น
รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นกรณีที่ RSI ส่งสัญญาณ Bearish Divergence แต่หลังจากติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดแล้วไม่มีสัญญาณให้ขายจึงถือหุ้นต่อ ทำให้ไม่ได้ลงมือขายหุ้นจากสัญญาณ Divergence ของ RSI
รูปตัวอย่างถัดมาแสดงให้เห็นกรณีที่ RSI ส่งสัญญาณ Bearish Divergence หลังจากติดตามกราฟราคาหุ้นอย่างใกล้ชิดแล้วเกิดสัญญาณให้ขายจากการทำจุดต่ำสุดใหม่ จึงค่อยตัดสินใจขายลงมือหุ้น
อย่าคาดหวังผล 100%
อย่างไรก็ตามวิธีที่ผมแนะนำให้ใช้ RSI เป็นสัญญาณเตือน และตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจากกราฟราคาหุ้นนั้น ก็ไม่ได้การันตีว่า การวิเคราะห์ด้วยวิธีนี้จะต้องได้ผลออกมาถูกต้อง 100 % แต่การตัดสินใจซื้อขายจากกราฟของราคาหุ้นนั้นจะลดโอกาสผิดพลาดของสัญญาณ RSI ได้เป็นอย่างดี
ข้อสังเกตเพิ่มเติมเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ RSI
มีข้อสังเกตเพิ่มเติม 2 ข้อของกราฟ RSI ที่เกี่ยวข้องกับทิศทางแนวโน้มของกราฟราคาหุ้นที่ผมอยากแนะนำ คือ
1) สัญญาณ Overbought และ Oversold จะใช้งานได้ดีเมื่อกราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มเป็นแบบ Sideways และจะใช้งานได้ไม่ดีถ้ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางของแนวโน้มที่แข็งแกร่ง และชัดเจน เพราะในกรณีที่กราฟราคาหุ้นมีแนวโน้มอย่างชัดเจนและแข็งแกร่ง RSI จะส่งสัญญาณ Overbought หรือ Oversold อย่างต่อเนื่องและยาวนาน โดยที่กราฟราคาหุ้นจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางของแนวโน้มเลย จึงเป็นที่มาของข้อแนะนำให้ตัดสินใจลงมือซื้อขายหุ้นจากกราฟราคาหุ้นไม่ใช่สัญญาณจาก RSI
รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าถ้ากราฟราคาหุ้นมีทิศางแนวโน้มขาขึ้นชัดเจนแข็งแกร่ง RSI สามารถอยู่ในเขต Overbought ได้อย่างต่อเนื่องและยาวนาน
2) ถ้ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาขึ้นแบบชัดเจน RSI มักจะ มีค่าอยู่ระหว่าง 40-80 เนื่องจากในช่วงที่ทิศทางของราคาหุ้นเป็นขาขึ้นชัดเจนนั้น พฤติกรรมของคนในตลาดส่วนใหญ่ ควรจะไม่อยากขายหุ้นมากนัก ถึงแม้จะมีบางช่วงที่ราคาหุ้นมีการพักฐานแต่ก็พักฐานได้ไม่นาน ดังนั้น RSI จึงมักจะยังปรับตัวลดลงไม่มาก (RSI มักจะไม่ต่ำกว่า 40 เพราะ หุ้นทิศทางขาขึ้น Momentum ควรให้มุมมองเชิงบวก)
ถ้ากราฟราคาหุ้นมีทิศทางแนวโน้มเป็นขาลงแบบชัดเจน RSI มักจะ มีค่าอยู่ระหว่าง 20-60 เนื่องจากในช่วงที่ทิศทางของราคาหุ้นเป็นขาลงชัดเจนนั้น พฤติกรรมของคนในตลาดส่วนใหญ่ ควรจะไม่อยากซื้อหุ้นมากนัก ถึงแม้จะมีบางช่วงที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวสูงขึ้นแต่ก็เด้งขึ้นได้ไม่นาน ดังนั้น RSI จึงมักจะยังปรับตัวขึ้นไม่มาก (RSI มักจะไม่สูงกว่า 60 เพราะ หุ้นทิศทางขาลง Momentum ควรให้มุมมองเชิงลบ)
ในหลาย ๆ ครั้ง ถ้าผมเชื่อว่าหุ้นน่าจะอยู่ในช่วงแนวโน้มขาขึ้นหรือขาลงอย่างชัดเจน ผมมักจะใช้ระดับ RSI 40-50 ในการหาจังหวะซื้อหุ้น ตอนที่หุ้นมีการปรับฐานในช่วงแนวโน้มขาขึ้น และจะใช้ระดับ RSI ที่ 50-60 ในการหาจังหวะขายหุ้นตอนที่หุ้นมีการเด้งขึ้นชั่วคราวในช่วงแนวโน้มขาลง
รูปตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าช่วงที่หุ้นมีทิศทางแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน ราคามักจะปรับฐานเสร็จที่ RSI 40-50 และในช่วงที่หุ้นมีทิศทางแนวโน้มขาลงชัดเจน ราคาหุ้นมักจะเด้งไปถึงระดับ RSI 50-60 แล้วลงต่อ
ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านและช่วยให้สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับ RSI ได้มาขึ้นนะครับ บรัย……